วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

หวัด ไม่ดีครับ

หวัด การป้องกัน อาหารเป็นยา การแพทย์ผสมผสาน สุขภาพดีมีสุข



วันนี้หมอจะมาคุยเรื่องหวัดในสไตล์การแพทย์ผสมผสานให้ฟังนะคะ

หวัด เป็น โรคที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสก่อโรค ร่วมกับสภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอก็จะเกิดโรคหวัดขึ้น 

หมอขอแบ่งโรคหวัดง่ายๆออกเป็น
1.โรคหวัดธรรมดา ก็จะมีอาการที่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ไอ  คออักเสบ เสียงแหบ  อาจมีไข้ต่ำๆ มีอาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างน้อย
2.ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง มีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน  และมีอาการอ่อนเพลียและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามแขน ขา และหลังได้มากกว่า มีอาการทางเดินอาหารและ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากโรคหวัด ได้แก่ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ

ยารักษาหวัด จะเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูกแก้คัดจมูก  ยาบรรเทาอาการไอ
นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ในบางครั้งโรคหวัดอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย  ซึ่งจะมีอาการแสดงได้แก่ เจ็บคอ น้ำมูกข้นและมีสีเขียวเหลือง ในกรณีนี้จะเพิ่มยาปฏิชีวนะ ซึ่งถูกเรียกด้วยความเข้าใจผิดว่า  “ยาแก้อักเสบ” ร่วมด้วย 

การป้องกันไข้หวัดใหญ่  ผู้ป่วยควรใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกเพื่อเป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไวรัสที่สามารถฉีดได้ปีละครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ทุกชนิด รวมถึงมียาต้านไวรัสที่ได้รับการแนะนำให้ใช้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อซึ่งควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์

โรคหวัดในทรรศนะแพทย์แผนจีน

เชื่อว่าสาเหตุหลักคือ ลม เมื่อกระทบร่างกายที่อ่อนแอ จึงเกิดเป็นโรคหวัดขึ้น
หมอขอแบ่งง่ายๆ เพื่อความเข้าใจในการใช้อาหารเป็นยา ออกเป็น
1.หวัดลมหนาว มีอาการ กลัวหนาว ไข้ต่ำ ไม่มีเหงื่อ คัดจมูก น้ำมูกใส
   หลักการรักษา คือ ขับเหงื่อเพื่อขจัดความหนาวออกจากร่างกาย
   โดยใช้สมุนไพรรสเผ็ดอุ่น เช่น น้ำขิง อบเชย ต้นหอม ใบงาขี้ม่อน โกฐหัวบัว โกฐสอ
2.หวัดลมร้อน ไข้สูง คอแดง เจ็บคอ น้ำมูกเสมหะข้นเหลือง
   หลักการรักษา คือ ขับเหงื่อ ทำให้ร่างกายเย็นลง
   โดยใช้สมุนไพรรสเย็นหรือเผ็ดเย็น เช่น น้ำเก๊กฮวย ชาเขียวผสมน้ำตาลกรวด น้ำต้มถั่วเขียว ดอกไม้จีน    ชะเอม ใบหม่อน สะระแหน่ หัวไชเท้า

นอกจากนี้อาจใช้สมุนไพรเพื่อบำรุงลมปราณ เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย ได้แก่ เห็ดหลินจือ หวงฉี รากชะเอม ซานเอี้ยว
 
ทางการแพทย์แผนจีน มีตำรับยาสมุนไพรที่ใช้รักษาหวัดหลายตำรับ ซึ่งควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ก่อนใช้

โรคหวัดในคัมภีร์แพทย์แผนไทย

มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ตักศิลา ซึ่งเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับไข้ โดยแบ่งไข้หวัดออกเป็น ไข้หวัดน้อย และไข้หวัดใหญ่ กล่าวถึงเหตุของไข้หวัดเพราะเหตุฤดู 3 ประการ คือ ฤดูร้อน ฝน และหนาว โรคที่เกิดจากต้องร้อน น้ำค้าง ละอองฝน

การรักษาทางแพทย์แผนไทยใช้ยาลดไข้ เช่น ยาจันทลีลา ยาประสะจันทร์แดง และรักษาตามอาการ
นอกจากนี้มีการใช้สมุนไพรหลายชนิดที่ใช้ในโรคหวัด ซึ่งหมอขอแบ่งง่ายๆเพื่อความเข้าใจ คือ
1.สมุนไพรรสขม ช่วยลดไข้ และฆ่าเชื้อ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร พลูคาว หญ้าลูกใต้ใบ บอระเพ็ด มะระขี้นก
2.สมุนไพรรสเปรี้ยว ช่วยขับเสมหะ เช่น กระเจี๊ยบแดง มะขามป้อม มะขาม มะนาว มะแว้ง
3.สมุนไพรรสเผ็ดร้อน ช่วยขับเหงื่อ ขจัดความหนาวเย็นได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม กะเพรา พริกไทย กระชาย โหระพา หอมแดง หอมหัวใหญ่ ดีปลี

ในความเห็นของหมอ การรักษาโรคหวัดในรายที่อาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เองด้วยการรักษาตามอาการ แต่หลายกรณีมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาน่าจะเป็นทางที่ปลอดภัยที่สุด การใช้อาหารเป็นยาร่วมด้วยเพื่อการดูแลตนเองอย่างง่ายๆสามารถทำร่วมกันได้   แต่การใช้สมุนไพรบางชนิดที่ปกติไม่ได้รับประทานเป็นอาหารด้วยตนเองอาจมีอันตราย เพราะการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงโรคมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ 


ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีมีสุขนะคะ

ติดตามบทความได้ทางช่องทางอื่น
http://www.facebook.com/dr1chuleekorn
IG @dr1chuleekorn
line ID @nom4090p

.         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น