วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เป๊ะเว่อร์ ป่วยได้

หล่อ สวย รวย ฉลาด เป็นที่รัก สมปรารถนาในชีวิต เป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ โดยเราเชื่อว่าคุณสมบัติที่เพียบพร้อมสมบูรณ์จะทำให้เรามีความสุข และเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ทำไมในบางคนที่ดูเหมือนมีทุกอย่างแต่กลับไม่มีความสุข

ก่อนอื่นหมอจะพามารู้จักกับลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ( Maslow's hierarchy of needs)  


Maslow เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นจำนวนมาก สามารถอธิบาย โดยใช้แนวโน้มของบุคคล ในการค้นหาเป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตของเขา ได้รับความ ต้องการ ความปรารถนา และได้รับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง โดยเขาเชื่อว่ามนุษย์เป็น "สัตว์ที่มีความต้องการ" (wanting animal) และเป็นการยากที่มนุษย์จะไปถึงขั้นของความพึงพอใจอย่างสมบูรณ์ ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow เมื่อบุคคลปรารถนาที่จะได้รับความพึงพอใจ และเมื่อบุคคลได้รับความพึงพอใจในสิ่งหนึ่งแล้ว ก็จะยังคง เรียกร้องความพึงพอใจสิ่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความต้องการจะได้รับสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ

Maslow กล่าวว่าความปรารถนาของมนุษย์นั้น ติดตัวมาแต่กำเนิด และความปรารถนาเหล่านี้ จะเรียงลำดับขั้นของความปรารถนา ตั้งแต่ขั้นแรกไปสู่ ความปรารถนาขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับดังนี้

1.ความต้องการทางกายภาพเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์  

2.ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย 

3.ความรักและมิตรภาพ

4. ความเคารพนับถือ

5.ความสมบูรณ์ของชีวิต


ความสมบูรณ์ในชีวิตในทฤษฏีของมาสโลว์ สุขภาพดีมีสุข


 ความสมบูรณ์ในชีวิตในทฤษฏีของมาสโลว์  ไม่ใช่ "ความสมบูรณ์แบบ" แต่คือคุณธรรม ไม่ยึดมั่นถือมั่น ความสามารถในการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาได้

อาการหลงความสำเร็จ หลงใหลความสมบูรณ์แบบ เป๊ะเว่อร์ เนี๊ยบสุดๆ พบได้ใน“คนสมบูรณ์แบบ” หรือ “มนุษย์ไม้บรรทัด” (perfectionism)
คนประเภทนี้จะจริงจัง มุ่งหาความสมบูรณ์แบบ หรือตั้งมาตรฐานในเรื่องต่างๆ สูงเกินความพอดี  คนเป๊ะเว่อร์ เนี๊ยบสุดๆ จะยอมรับความจริงในความไม่สมหวังหรือความผิดพลาดในชีวิตได้ยากกว่าคนอื่น ชีวิตที่เต็มไปด้วยไม้บรรทัด ทั้งชีวิตตัวเองและคนรอบข้างส่งผลต่อความสุขที่จะมีน้อยลงเรื่อยๆ

ข้อดี คือ ทำงานได้ดี และได้มาตรฐานสูง ข้อเสียคือ อาจส่งผลให้คนคนนั้นเครียดและอาจกลายเป็น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคที่มีความผิดปกติของการกิน ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิต การทำงาน ตลอดจนความเป็นอยู่ รวมถึงคนที่อยู่ใกล้ชิด หากมีอาการหนัก ผิดหวัง จะนำไปสู่โรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด

สาเหตุของการเป็นคนสมบูรณ์แบบหรือ มนุษย์ไม้บรรทัด” (perfectionism)
อาจเป็นได้จาก
1.การอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวด ชอบตัดสินและเปรียบเทียบจากพ่อแม่
2.มีวัยเด็กที่ลำบาก เจ็บป่วย หรือมาจากครอบครัวแตกแยก

การป้องกันลูกหลานไม่ให้เป็น "คนสมบูรณ์แบบ"

1.ไม่เปรียบเทียบลูกหลานกับตัวเองสมัยก่อน  ไม่เปรียบเทียบพี่กับน้อง หรือเปรียบเทียบกับญาติพี่น้อง
2.คุยกับลูกหลานให้เข้าใจธรรมดาของชีวิตว่า คนเราผิดพลาดกันได้ และมีแผนสองไว้เสมอ

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าร่างกายและจิตใจของเรามีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง ทางการแพทย์มีการเรียกกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือพยาธิสภาพของร่างกายที่เป็นผลโดยตรงจากความเครียดนี้ว่า ไซโคโซมาติคหรือ Psychosomatic Disorders

ภาวะกดดันทางจิตใจ สามารถทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยทางกายได้หลากหลายรูปแบบ โดยผ่านการทำงานที่แปรปรวนของระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน ได้แก่ ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine: Vascular Headache)  ปวดศีรษะแบบตึงเครียด (Tension-type Headache)  โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่างๆ (Immunological Diseases)เช่น โรคไทรอยด์ชนิดเกรฟ (Grave’s Disease)  และเอสแอลอี (SLE)  โรคปวดเรื้อรังแบบไฟโบรไมอัลเจีย (Fibromyalgia)  โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease)  โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension)  โรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืด (Peptic Ulcer) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) โรคหอบหืด (Asthma) โรคภูมิแพ้(Allergy)

โรคกลุ่มนี้ใช้เพียงยารักษาไม่ได้ ต้องรักษาแบบผสมผสานโดยปรับเปลี่ยน/รักษาด้านจิตใจ สังคมและการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้ป่วย(Lifestyle Medicine)ควบคู่ไปด้วย โดยปรับแนวความคิดให้ตระหนักได้ว่าคนเราผิดพลาดกันได้ ไม่ต้องดีพร้อมทุกเรื่อง แค่ทำดีที่สุด บางเรื่องเราก็ไม่สามารถควบคุมได้ดังใจต้องการ

การรักษาแบบผสมผสานอาจอาศัยผู้ที่สามารถสร้างศรัทธาให้คนไข้ แพทย์ นักจิตวิทยา โดยผ่านได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษาแผนปัจจุบันหรือแพทย์ทางเลือกเพื่อการปรับสมดุลทางอารมณ์ให้ผ่อนคลายเพี่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

ในบางครั้งเราอาจไม่ใช่"มนุษย์ไม้บรรทัด" แต่การที่ใจเราไปยึดติดกับบางสิ่งหรือเรื่องบางเรื่องก็ทำให้เกิดความเครียดตามมา ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน และก่อให้เกิดอาการทางกายตามมาได้เช่นเดียวกัน  การเจริญสติทางพุทธศาสนาในแนวทางต่างๆ ได้แก่การดูลมหายใจ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวในแนวทางของหลวงพ่อเทียน การบริกรรมพุทโธ การสวดมนต์ การออกกำลังกาย โยคะ ชี่กง คือ วิธีออกจากวงจรความคิดที่มาจากความเครียด และทำให้เราเห็นและยอมรับความจริง นำไปสู่การแก้ปัญหา ดังที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ4 อันเป็นแนวปฎิบัติสู่ความพ้นทุกข์
ติดตามบทความได้ทางช่องทางอื่น
http://www.facebook.com/dr1chuleekorn
IG @dr1chuleekorn
line ID @nom4090p

Reference

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น