วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

การแพทย์ผสมผสาน คือ อะไร

คำว่าการแพทย์(medicine)มีความหมายว่า ศาสตร์ของการวินิจฉัย บำบัดรักษาหรือป้องกันโรค โดยมุ่งหมายให้มนุษย์บรรเทาจากอาการทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ หรือช่วยให้สามารถรักษาชีวิตหรือให้กลับมาสู่สภาวะที่ไม่เจ็บป่วยได้ ซึ่ง การแพทย์มีหลายระบบ เช่น การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์ตะวันตกหรือที่เรียกว่าการแพทย์แบบแผน (conventional medicine) นอกจากนี้ยังมีการแพทย์ทางเลือกได้แก่ การแพทย์แผนไทย  การแพทย์แผนจีน การแพทย์อายุรเวช เป็นต้น

สำหรับหมอได้มีโอกาสศึกษาทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน  การแพทย์แผนไทย  การแพทย์แผนจีน และความรู้ทางการแพทย์ในมุมอื่นๆ  ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าในแต่ละการแพทย์มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปขึ้นกับการเลือกนำมาใช้  คนไข้ในแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน เพียงแต่การให้ข้อมูล  การวินิจฉัยโรค และการรักษาควรอยู่ในพื้นฐานของการมุ่งประโยชน์ของคนไข้  มากกว่าการโฆษณาการแพทย์ที่เกินจริงทำให้คนไข้มีความคาดหวังที่ผิดไปและเสียค่าใช้จ่าย  ตลอดจนได้รับผลเสียของการรักษาหรือไม่ได้ประโยชน์ในค่าใช้จ่ายที่เสียไปเท่าที่ควร  
การแพทย์ผสมผสาน สุขภาพดีมีสุข

การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์แผนตะวันตกมีจุดเด่นอยู่ที่มีงานวิจัยรองรับ  ส่วนการแพทย์ทางเลือก และการแพทย์แผนตะวันออกถ้าใช้ในแนวทางที่ถูกต้อง  เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดในการช่วยดูแลกายและใจของคนไข้แบบองค์รวม(holistic)  เน้นในแนวป้องกันและฟื้นฟูรวมทั้งปรับพฤติกรรม ในแง่อาหาร  อารมณ์ การออกกำลังกาย การพักผ่อน  ซึ่งแพทย์แผนตะวันตกเรียกว่า  life style medicine

อย่างที่ธรรมของพระพุทธองค์สอนไว้  ทุกสิ่งย่อมมี2ด้านเสมอ  ตรงกับการแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงเรื่องหยินหยาง  การมองสิ่งต่างๆในแง่มุมเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป  และไม่มีสรรพสิ่งใดๆในโลกที่มีความสมบูรณ์100%  การแพทย์ก็เช่นเดียวกันเพียงแต่มีการเลือกนำไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของคนไข้ต่อไป

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีมีสุขนะคะ
www.dr1wellness.blogspot.com
ติดตามบทความได้ในช่องทางอื่น
www.facebook.com/dr1chuleekorn
IG @dr1chuleekorn
line ID @nom4090p

พามารู้จักแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกันค่ะ

ขอแนะนำตัวเองก่อนค่ะ ประวัติผู้เขียน blog เดิมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังและเป็นคนชอบเรียน  ระหว่างทำงานตลอดจนวันหยุดเสาร์อาทิตย์มีเวลาก็มีโอกาสได้ไปศึกษาเรียนรู้และอบรมเรื่องการดูแลสุขภาพในแนวเชิงป้องกันอยู่เรื่อยๆ จนมีโอกาสได้สอบเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกันค่ะ


แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน คือ ใคร



เพื่อนของผู้เขียน blogหลายคนที่ไม่ใช่หมอ ถามผู้เขียนว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน ทำอะไรบ้าง  มีสาขานี้ด้วยเหรอ ส่วนใหญ่แพทย์ที่จบเฉพาะทางสาขานี้จะทำงานเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ ระดับกระทรวง และเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ

เวชศาสตร์ป้องกัน preventive medicine คือ สาขาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดและการแพร่หรือเพิ่มมากขี้นของโรคทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ โดยมีการประยุกต์ทุกด้านแบบองค์รวม(holistic)ในการส่งเสริมสุขภาพของบุคคลและชุมชนในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่

การป้องกันปฐมภูมิ คือ การป้องกันก่อนเป็นโรค ได้แก่ การใช้วัคซีน การหาปัจจัยเสี่ยงและการให้การศึกษาเพื่อป้องกัน

การป้องกันทุติยภูมิ ได้แก่ การตรวจคัดกรองโรคและการวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว

การป้องกันตติยภูมิ ได้แก่ ป้องกันและฟื้นฟูสภาพหลังจากเป็นโรค

สุขภาพดีมีสุข การแพทย์องค์รวม

สุขภาพดีมีสุข เวชศาสตร์ป้องกัน

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน คือ แพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติ หรือ วุฒิบัตร รับรองเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกันจากแพทยสภา 
วิชาเวชศาสตร์ป้องกันเป็นที่น่าสนใจ เพราะเนื้อหาค่อนข้างกว้าง  คงต้องมีการศึกษาและค้นคว้าวิจัย  ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์จากผู้มีความรู้หลายๆฝ่าย ในปัจจุบันกระแสสุขภาพในเชิงป้องกันเป็นที่สนใจกันมาก แต่งานด้านเอกชนยังไม่ค่อยรองรับแพทย์สาขานี้มากจึงทำให้ขาดความสนใจของแพทย์ที่มาเรียนรู้ทางด้านนี้ ทั้งๆที่แพทย์สาขานี้ควรจะเป็นหลักในการตอบคำถามและให้การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ถูกต้องแก่ประชาชนท่ามกลางกระแสสุขภาพแนวป้องกันที่หลากหลายและทำให้ประชาชนหรือคนไข้สับสนว่าสิ่งใดถูกต้อง  ความเห็นของผู้เขียนคือทางโรงเรียนแพทย์และแพทยสภาน่าจะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักแพทย์สาขานี้ตลอดจนเปิดหลักสูตรเพื่อให้แพทย์สนใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนไข้เพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในแนวป้องกันที่เหมาะสมต่อไป

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีมีสุขนะคะ
ติดตามบทความได้ในช่องทางอื่น
www.facebook.com/dr1chuleekorn
IG @dr1chuleekorn
line ID @nom4090p