วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความสมดุล(balance)

"ความสุข ความสบาย คือ ความพอดี ความสมดุล"
ความพอดี ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป จนต้องเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ทางสายกลาง ความพอดี มัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ในศาสนาพุทธ หมายถึง การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง 2 ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกามในความสบาย

พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักทางสายกลางนี้ไว้ชัดเจน คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่นย่อแล้ว เรียก "ไตรสิกขา" ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล คือ ความปกติ ปฏิบัติแล้วเป็นปกติ ทำจนมันเป็นนิสัย ทำจนมันเป็นเรื่องปกติ เป็นการรักษากาย วาจาให้เป็นปกติ ไม่รุกราน ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร เมื่อละปกติคือผิดปกติก็ไม่สงบ รุกราน เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ด้วยอำนาจของจิตใจที่ผิดปกติ เพราะโลภะ โทสะและโมหะ
เมื่อมีความปกติ ก็เกิดสมาธิ คือ ความสงบหรือความว่างของจิตและเกิดปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย

ทำอย่างไรจึงเจอทางแห่งมรรค พระพุทธเจ้าท่านให้ทางไว้คือ  อริยสัจ4

ขั้นตอนการเข้าถึงอริยสัจสี่ 4 ประการ คือ

1.
การรับรู้กิเลส(โลภ โกรธ หลง)ที่ทำให้เกิดทุกข์ด้วยจิตว่าง คือ การรับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง

คำว่า จิตว่าง เป็นการสื่อทางภาษาที่อธิบายได้ยาก บางครั้งอาจเกิดการไปทำหรือไปบังคับให้จิตว่างซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากความคิดไม่อาจขจัดได้ด้วยการคิด เพราะการคิดก่อให้เกิดความคิด แม้คิดจะไม่คิดก็ยังเป็นความคิด ดังนั้นเราไม่สามารถทำให้จิตว่างได้จากความคิด


จริงๆแค่อยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย และไม่เพ่งเฝ้าดูจิต เพียงแต่มีจิตที่ผ่อนคลายและรับรู้ตามธรรมชาติ(สติปัฏฐาน4) แค่รับรู้โดยไม่ต้องพยายามบังคับให้ไม่มีกิเลสหรือไม่คิดหรือบังคับให้จิตเป็นกลาง

การทำให้จิตผ่อนคลาย ทำได้โดยการเจริญสติทางพุทธศาสนาในแนวทางต่างๆ ได้แก่การดูลมหายใจแบบไม่เพ่งหรือบังคับ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวในแนวทางของหลวงพ่อเทียน การบริกรรมพุทโธ การสวดมนต์ การอ่านหนังสือธรรมรวมทั้งการออกกำลังกาย โยคะ ชี่กง  การฟังเพลงที่ทำให้จิตใจผ่อนคลาย การเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นที่ทำให้จิตผ่อนคลาย  

เมื่อจิตผ่อนคลายก็จะรับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลางโดยธรรมชาติโดยไม่ต้องบังคับ ทำให้เกิดข้อ2,3,4 ตามมาเอง 
2. การใช้ปัญญาคิด วิเคราะห์เหตุแห่งที่มาของความทุกข์นั้น เรียกว่า สมุทัย
3. ใช้ปัญญากำหนดเครื่องดับทุกข์ คือ การยอมรับในทุกข์ด้วยความเข้าใจในความจริงของทุกสรรพสิ่ง เรียกว่า นิโรธ
4. การปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ประพฤติชอบ การงานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ

เมื่อมีความสมดุลของจิต มีความสบายของจิต ก็ก่อให้เกิดความสุข ซึ่งส่งผลให้สุขภาพร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลตามมาด้วยค่ะ

ติดตามความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ ผิวหนัง ความงาม การแพทย์ผสมผสานได้ที่www.dr1wellness.blogspot.com
ติดตามบทความได้ทางช่องทางอื่น
IG @dr1chuleekorn
line ID @nom4090p