วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

หมอขา หนูนอนไม่ค่อยจะหลับค่ะ

นอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นปัญหาความผิดปกติในการนอนที่พบได้บ่อย ไม่ใช่โรค แต่เป็นปัญหาการนอนไม่พอทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น ถ้าเป็นเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อจิตใจ การงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น อาจมาด้วยอาการนอนยาก ไม่ง่วงเมื่อถึงเวลานอน ใช้เวลานานจึงจะหลับ หลับไม่สนิท หลับๆตื่นๆ นอนแล้วตื่นกลางดึก ตื่นแล้วกลับไปนอนไม่ได้อีก หรือแม้จะรู้สึกอ่อนเพลียเพียงใดก็ไม่สามารถนอนหลับได้

นอนไม่หลับ สมุนไพรช่วยนอนหลับ อาหารเป็นยา สุขภาพดีมีสุข

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

1.ปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น ภาวะตึงเครียดในชีวิต
2.การเปลี่ยนแปลงในความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม เช่น แสงสว่างมากเกินไป เสียงดัง อุณหภูมิร้อนเกินไป การเปลี่ยนที่นอนและการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก การทำงานกะดึก
3.ปัญหาการนอนที่มาจากโรคของการนอนหลับโดยตรง เช่น การเคลื่อนไหวแขนขาที่ผิดปกติขณะหลับ การขาดลมหายใจระหว่างการนอนหลับเป็นพัก ๆ
4.ความผิดปกติทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยที่มีความไวกว่าธรรมดา เช่น ภาวะตื่นตัวสูงและตื่นเต้นง่าย
5.โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคในกลุ่มกังวล โรคจิต
6.อาการเจ็บป่วยหรือความไม่สบายทางร่างกาย เช่น สมองเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมน อาการปวดการไอเรื้อรัง การหายใจลำบาก การตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ
7.การใช้ยาหรือสารบางชนิด

สาเหตุการนอนไม่หลับในทรรศนะแพทย์แผนจีน ได้แก่ การเสียสมดุลของหัวใจ ตับ ม้ามและไต ซึ่งตรงกับแผนปัจจุบันคือ เรื่องอารมณ์ อาหาร และฮอร์โมน


การรักษาอาการนอนไม่หลับ

การรักษาอาการนอนไม่หลับโดยใช้ยา มีผลข้างเคียงได้ ควรปรึกษาแพทย์
การรักษาอาการนอนไม่หลับโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ แก้ไขสาเหตุ การนวดกดจุด การฝังเข็ม การผ่อนคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกาย สวดมนต์ สมาธิ ดนตรีบำบัดการสะกดจิต การใช้สุคนธบำบัด การใช้อาหารเสริมพวกเมลาโทนิน

นอกจากนี้ยังอาจใช้อาหารเป็นยา โดยอาหารที่จัดเป็นสมุนไพรช่วยเรื่องนอนไม่หลับ ได้แก่ สมุนไพรvalerian ชาchamomile
สมุนไพรจีน ได้แก่ เม็ดบัว พุทราจีน ลำไย เห็ดหลินจือ
สมุนไพรไทย ได้แก่ ขี้เหล็ก ชุมเห็ดไทย มะรุม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ส.ส.ส.) ยังแนะนำการใช้อาหารเป็นยาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ ดังนี้
 1. อาหารกลุ่มที่มีทริปโตเฟนสูง เมื่อรับประทานอาหารที่มีสารทริปโตเฟนสูง แล้วสารทริปโตเฟนซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็น ร่างกายจะนำเอาทริปโตเฟนไปใช้กับวิตามินบี 3 และบี 6 ในการสร้างสารเซเรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีส่วนช่วยในกระบวนการนอนหลับ อาหารที่มีทริปโตเฟนสูง ได้แก่ ปลาทู ปลากะพง ปลาแซลมอน ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง เมนูที่เลือกรับประทานในมื้อเย็นควรเป็นอาหารกลุ่มนี้แต่เลือกวิธีการปรุงประกอบแบบ อบ นึ่ง ย่าง เผา ดีกว่าผัดหรือทอดด้วยน้ำมัน เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับไขมันมากเกินไป และร่างกายต้องใช้เวลาย่อยนานทำให้นอนหลับได้ยาก นอกจากนี้ ในผลไม้บางชนิดยังมีสารทริปโตเฟนสูง เช่น กล้วย กีวี แคนตาลูป สับปะรด แตงโม อาจทานเป็นอาหารว่างหลังอาหารเย็น
 2. อาหารกลุ่มที่มีสารเมลาโทนินสูง สารเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนประเภทหนึ่งที่ใช้สร้างสารซีโรโทนิน ซึ่งจะส่งผลต่อการนอนหลับ ช่วงเวลากลางวันระดับเมลาโทนินในเลือดจะมีระดับต่ำสุด ขณะที่ช่วงเวลากลางคืน เมลาโทนินจะเริ่มถูกสังเคราะห์ขึ้นตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ จนมีระดับสูงสุดในเลืดประมาณช่วงตี 1 ถึงตี 2 อาหารที่มีสารเมลาโทนินสูงได้แก่ ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด นมสด โยเกิร์ตไม่ใส่น้ำตาล
 3. อาหารกลุ่มที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมสูง เนื่องจากหากร่างกายขาดแมกนีเซียมจะส่งผลต่อระบบประสาทสมองที่ช่วยในการนอนหลับ อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ นอกจากนี้ อาหารบางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีสารกาเฟอีนสูง จะทำให้ระบบประสาทตื่นตัวและนอนไม่หลับ อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนสูง ได้แก่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับและการตอบสนองต่อการรักษาแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ถ้าเป็นเรื้อรังหรือมีปัญหาไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ค่ะ

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีมีสุขนะคะ
www.dr1wellness.blogspot.com
ติดตามบทความได้ในช่องทางอื่น
www.facebook.com/dr1chuleekorn
IG @dr1chuleekorn
line ID @nom4090p

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น